สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1695  ถ้าพินัยกรรมได้ทำเป็นต้นฉบับแต่ฉบับเดียว ผู้ทำพินัยกรรมอาจเพิกถอนพินัยกรรมนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ โดยทำลายหรือขีดฆ่าเสียด้วยความตั้งใจ

วรรคสอง ถ้าพินัยกรรมได้ทำเป็นต้นฉบับหลายฉบับ การเพิกถอนนั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้กระทำแก่ต้นฉบับเหล่านั้นทุกฉบับ

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9059/2539 พินัยกรรมตามเอกสารหมายค.8นั้นผู้ร้องเบิกความว่าพินัยกรรมฉบับนี้ถูกเพิกถอนไปแล้วโดยผู้ร้องเป็นผู้ขีดฆ่าและเขียนยกเลิกพินัยกรรมต่อหน้าผู้ตายแม้จะเป็นจริงดังว่าก็มิใช่การทำลายหรือขีดฆ่าเสียด้วยความตั้งใจของผู้ตายซึ่งเป็นผู้ทำพินัยกรรมเองอันเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1695วรรคหนึ่งพินัยกรรมเอกสารหมายค.8จึงยังมีผลใช้บังคับได้ ส่วนพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามเอกสารหมายค.3นั้นแม้จะปรากฏว่าต่อมาผู้ตายได้ทำคำร้องและบันทึกขอถอนพินัยกรรมโดยอ้างว่าจะยกเลิกพินัยกรรมดังกล่าวและรับพินัยกรรมคืนไปแล้วก็ตามแต่ไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้ทำลายหรือขีดฆ่าต้นฉบับกับคู่ฉบับของพินัยกรรมอันจะมีผลให้เป็นการเพิกถอนพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1695วรรคหนึ่งพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองตามเอกสารหมายค.3จึงยังมีผลบังคับอยู่เช่นกัน เมื่อพินัยกรรมของผู้ตายทั้งฉบับเอกสารหมายค.8และฉบับเอกสารหมายค.3ยังมีผลบังคับอยู่ทั้ง2ฉบับทั้งพินัยกรรมตามเอกสารหมายค.3ซึ่งทำในภายหลังมิได้มีข้อความตอนใดระบุให้เพิกถอนพินัยกรรมตามเอกสารหมายค.8เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่นและปรากฏว่าพินัยกรรมฉบับก่อนกับฉบับหลังขัดกันประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1697ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลังเฉพาะในส่วนที่มีข้อความขัดกันเท่านั้นจึงถือว่าพินัยกรรมฉบับเอกสารหมายค.8เป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับเอกสารหมายค.3เฉพาะข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกที่ดิน2แปลงตามข้อ2และข้อ3เท่านั้นที่พินัยกรรมเอกสารหมายค.3ระบุให้ตกแก่ผู้ร้องและให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฉบับนี้ซึ่งย่อมหมายถึงให้ผู้ร้องมีสิทธิจัดการมรดกเฉพาะที่ดินทั้ง2แปลงดังกล่าวส่วนทรัพย์มรดกอื่นๆคงเป็นไปตามข้อกำหนดในพินัยกรรมตามเอกสารหมายค.8ข้อ4ถึงข้อ11ซึ่งกำหนดให้ผู้คัดค้านที่4เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฉบับดังกล่าวผู้ร้องซึ่งไม่ปรากฏว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมายจึงสมควรเป็นผู้จัดการมรดกเฉพาะที่ดินทั้ง2แปลงตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมตามเอกสารหมายค.3ตามเจตนาของผู้ตายในข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ2 ในชั้นต้นผู้คัดค้านที่1และที่2ยื่นคำร้องคัดค้านการขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยผู้ร้องและขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่3เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้คัดค้านที่1และที่2ยื่นอุทธรณ์ขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่1และที่2เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ตั้งผู้คัดค้านที่4เป็นผู้จัดการมรดกซึ่งก็ตรงกับความประสงค์แต่แรกของผู้คัดค้านที่1และที่2แต่ในชั้นนี้ผู้คัดค้านที่1และที่2กลับยื่นฎีกาขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่1และที่2เป็นผู้จัดการมรดกหรือเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องจึงเป็นได้ว่าฎีกาของผู้คัดค้านที่1และที่2เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6135/2534 ตามคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ร้องมีทรัพย์สินจะต้องจัดการถึง7 รายการ แม้ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินเฉพาะบางรายการให้ผู้คัดค้านที่ 2 แล้ว ก็ยังมีทรัพย์สินอื่นนอกพินัยกรรมที่จะต้อง จัดการอยู่อีก ผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมเป็นผู้มีส่วนได้เสียและ ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 จึงมีสิทธิที่จะเป็น ผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ หนังสือตัดทายาทโดยธรรมระบุนามสกุลผู้คัดค้านที่ 1 ว่า สกุล"ธรรมรัตน์"เป็น"ธรรมรักษ์" ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ไม่ ทำให้หนังสือตัดทายาทโดยธรรมเสียไป การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถูกตัดจากการเป็นทายาทโดยธรรม โดยไม่วินิจฉัยชี้ชัดว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นทายาท จริงหรือไม่นั้น การวินิจฉัยชี้ขาดว่าเป็นทายาทหรือไม่เป็นทายาท ของผู้ตายไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปปัญหาข้อนี้เป็นอุทธรณ์ที่ ไร้สาระศาลอุทธรณ์ชอบที่จะไม่รับวินิจฉัยให้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1695 ผู้ทำพินัยกรรมอาจเพิกถอนพินัยกรรมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้ โดยทำลายหรือขีดฆ่าเสียด้วยความตั้งใจหมายความว่า ต้องเพิกถอนด้วยการฉีก ทำลาย หรือทำให้หมดสิ้นจนใช้การไม่ได้ หรือขีดฆ่าลงบนพินัยกรรมนั้นเพื่อให้เห็นว่า ผู้ทำพินัยกรรมไม่มีเจตนาจะให้มีผลเป็นพินัยกรรมต่อไป ดังนั้น เพียงแต่บันทึกไว้ในช่องหมายเหตุในทะเบียนพินัยกรรมของ ที่ว่าการอำเภอว่า ขอถอนพินัยกรรม และบันทึกในใบรับพินัยกรรมว่า ขอถอน 14 มี.ค. 20 จึงยังไม่ถือว่าผู้ทำพินัยกรรมมีเจตนาทำลาย พินัยกรรม พินัยกรรมจึงยังมีผลสมบูรณ์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 372/2509 สามีโดยมิชอบด้วยกฎหมายทำพินัยกรรมยกทรัพย์ทั้งหมดให้ภริยาต่อมาสามีภริยานั้นได้ทำหนังสือแบ่งทรัพย์กันโดยสามีได้ทรัพย์ไปบางส่วน หนังสือแบ่งทรัพย์นั้นย่อมไม่เพิกถอนพินัยกรรม เพราะพินัยกรรมจะเพิกถอนไปได้ ก็ต้องกระทำด้วยพินัยกรรมฉบับหลังหรือทำลาย หรือขีดฆ่าพินัยกรรมนั้นด้วยความตั้งใจ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1694,1695 ถ้าทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมอย่างใดได้โอนไปโดยสมบูรณ์ด้วยความตั้งใจ ข้อกำหนดพินัยกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นเป็นอันเพิกถอนไปเฉพาะอย่าง มาตรา1696 แต่พินัยกรรมยังใช้ได้อยู่เมื่อทรัพย์ที่แบ่งกลับมาเป็นของสามีตามสัญญาแบ่งทรัพย์ก็ย่อมตกได้แก่ภริยาตามพินัยกรรมที่ยังมีผลสมบูรณ์อยู่นั้นเอง